ขางน้ำข้าว ๒

Stixis suaveolens (Roxb.) Pierre

ไม้เถาเนื้อแข็ง ใบเรียงสลับ รูปรีหรือรูปขอบขนาน ช่อดอกแบบช่อกระจะหรือช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่งหรือตามง่ามใบ ดอกสีเหลือง ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด สุกสีส้ม

ขางน้ำข้าวชนิดนี้เป็นไม้เถาเนื้อแข็ง กิ่งก้านเมื่ออ่อนมีขนนุ่ม เมื่อแก่เกลี้ยง สีน้ำตาลแดง และเป็นมัน มีช่องอากาศทั่วไป

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรีหรือรูปขอบขนาน กว้าง ๔-๙ ซม. ยาว ๑๐.๕-๑๙ ซม. แต่ในกรณีผิดปรกติใบอาจยาวได้ถึง ๓๐ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนมนหรือกึ่งรูปหัวใจ ใบหนาเป็นมัน ด้านบนเป็นเงา เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๑๑ เส้น เห็นชัดเจน ก้านใบยาว ๑.๕-๓ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจะหรือช่อแยกแขนง ออกตามง่ามใบ ยาว ๑.๒-๑.๘ ซม. ใบประดับเล็ก เรียว ยาว ๒-๓ มม. มีขนนุ่ม ดอกสีเหลือง กลิ่นหอม กลีบรวม ๖ กลีบ รูปรี กว้างประมาณ ๔ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. ปลายมน เนื้อหนา เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก อยู่บนก้านสั้นรูปทรงกระบอก ก้านชูอับเรณูแบน ยาว ๔-๖ มม. มีขน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปไข่ กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๕-๘ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเพศเมียมี ๓ แฉก

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปรี กว้างประมาณ ๒.๕ ซม. ยาวประมาณ ๓.๕ ซม. แข็ง ผลสุกสีส้ม ก้านผลยาว ๐.๘-๑.๓ ซม. มี ๒-๓ เมล็ด

 ขางน้ำข้าวชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในอินเดีย มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบในป่าละเมาะและป่าไผ่ ที่สูงตั้งแต่ระดับน้ำทะเลถึงประมาณ ๒๐๐ ม. ออกดอกประมาณเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ในต่างประเทศพบในอินเดีย และภูมิภาคอินโดจีน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ขางน้ำข้าว ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
Stixis suaveolens (Roxb.) Pierre
ชื่อสกุล
Stixis
คำระบุชนิด
suaveolens
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William
- Pierre, Jean Baptiste Louis
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Roxburgh, William (1751-1815)
- Pierre, Jean Baptiste Louis (1833-1905)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ก่องกานดา ชยามฤต